วันอังคารที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ภูมิปัญญากับค่านิยม

การที่ประชาชนในประเทศสามารถใช้ภูมิปัญญาสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ เป็นเรืองที่ภาครัฐเหมือนจะสนับสนุน แต่มักไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายนัก หรือไม่ก็เป็นข่าวในช่วงสั้น ๆ แล้วก็เงียบหายไป ไม่ได้รับการสานต่อเพื่อเผยแพร่ภูมิปัญญาที่เกิดจากฝีมือคนไทย ให้เป็นที่รู้จักและเกิดการยอมรับ เกิดกระแสสังคมในการภูมิใจที่คนในชาติสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ได้เช่นกัน
นั่นอาจจะหมายถึงการปลุกกระแสชาตินิยม ให้หันมานิยมสินค้าไทย ส่งเสริมภูมิปัญญาคนไทย หรือที่เคยเกิดกระแส Made in Thailand ในช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ผ่านไปแล้วเงียบหายไปอีกเช่นเคย ปล่อยให้วัฒนธรรมต่างชาติเกิดขึ้นมาอยู่ร่ำไป โดยเฉพาะในยุคที่วัยรุ่นไทยคลั่งวัฒนธรรมเกาหลี ซึ่งเพิ่งเกิดกระแสนี้มาในช่วงหลังนี้เอง ( โดยเฉพาะกระแสจากซีรี่ส์เรื่อง " แดจังกึม " และซีรี่ส์วัยรุ่นเกาหลี ) ซึ่งวัยรุ่นไทย Absorb ได้รวดเร็วมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกิดจากการเผยแพร่ทางสื่อทีวีที่แพร่หลายในวงกว้าง ทำให้เรารู้จักวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของเกาหลีได้ดี ทั้งในอดีตและปัจจุบัน เช่น การทำอาหาร การแต่งตัว วิถีชีวิต เป็นต้น
ถึงแม้ว่าภาครัฐบาล และสื่อมวลชนไทย จะพยายามเผยแพร่ สร้างข่าวขี้น ก็แค่เป็นข่าวในช่วงสั้น ๆ เช่น นักศึกษาอาชีวะผลิตกังหันวิดน้ำเพื่อการเกษตรได้ , ผลิตหุ่นยนต์ หลังจากนั้นก็ไม่มีการเผยแร่หรือสร้างกระแสให้เกิดขึ้นต่อเนื่อง
ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะความเชื่อ ( ที่พิสูจน์ได้ ) ว่าเทคโนโลยีของไทยไม่ทันสมัยเท่าฝรั่งหรือญี่ปุ่นหรือเกาหลี รวมทั้งค่านิยมในหม่วัยรุ่นและหนุ่มสาวทั้งหลายที่คิดว่าการใช้ของไทยเป็นเรื่องเชย แก่ ไม่ทันสมัย ซึ่งสืบเนื่องมาจากเราได้ซึมซับวัฒนธรรมต่างชาติ และมีค่านิยมที่จะเลียนแบบหรือเสพตาม
ดังนั้น ภูมปัญญาไทยจึงไม่อาจได้รับการแพร่หลาย อย่าว่าแต่ระดับนานาชาติเลย เพียงแค่ในประเทศเองก็ยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร นี่จึงเป็นการสวนทางกันระหว่างการส่งเสริมการสร้างภูมิปัญญาไทย กับค่านิยมสินค้าต่างชาติ ที่เกิดขึ้นในบ้านเรามาเนิ่นนาน

................โดย ....อมร อธิคมปัญญาวงศ์ ( 6 ส.ค. 51 )