วันจันทร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ภูมิปัญญาจากวรรณกรรม บทละครนอกเรื่อง “ สังข์ทอง ”

บทละครนอกเรื่อง “ สังข์ทอง ”
พระราชนิพนธ์ใน... พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ( รัชกาลที่ ๒ )
ประวัติที่มาของเรื่อง
สังข์ทองเป็นเรื่องที่ได้มาจาก “ สุวัณสังขชาดก ” ซึ่งเป็นนิทานเรื่องหนึ่งในปัญญาสชาดก
ของท้องถิ่น ในภาคเหนือและภาคใต้มีสถานที่ที่กล่าวถึงเนื้อเรื่องในสังข์ทองกล่าวคือเล่ากันว่า
เมืองทุ่งยั้ง เป็นเมืองท้าวสามนต์ ใกล้วัดมหาธาตุมีลานหินเป็นสนามตีคลีของพระสังข์ ส่วนในภาคใต้ เชื่อว่าเมืองตะกั่วป่าเป็นเมืองท้าวสามนต์ และเรียกภูเขาลูกหนึ่งว่า "เขาขมังม้า" เนื่องจากเมื่อพระสังข์ตีคลีชนะได้ขี่ม้าข้ามภูเขานั้นไป
บทละครพระราชนิพนธ์เรื่อง สังข์ทอง มี ๙ ตอน คือ
๑ . กำเนิดพระสังข์
๒. ถ่วงพระสังข์
๓. นางพันธุรัตเลี้ยงพระสังข์
๔. พระสังข์หนีนางพันธุรัต
๕. ท้าวสามนต์ให้ธิดาทั้งเจ็ดเลือกคู่
๖. พระสังข์ได้นางรจนา
๗. ท้าวสามนต์ให้ลูกเขยหาปลาหาเนื้อ
๘. พระสังข์ตีคลี
๙. ท้าวยศวิมลตามพระสังข์
ลักษณะคำประพันธ์
๑ เป็นกลอนบทละคร บทหนึ่งมี ๔ วรรค วรรคละ ๖ คำ หนึ่งบทมี ๒ บาท เรียกว่า บาทเอก
และบาทโท ๑ บาท เท่ากับ ๑ คำกลอน สัมผัสระหว่างวรรคไม่บังคับตายตัว
๒. คำขึ้นต้นบท กลอนบทละครมีคำขึ้นต้นหลายแบบ และคำขึ้นต้นนั้นไม่จำเป็นต้องมีจำนวน
เท่ากับวรรคสดับ อาจจะมีเพียง ๒ คำก็ได้ คำขึ้นต้นมีดังนี้
๒.๑ มาจะกล่าวบทไป มักใช้เมื่อขึ้นต้นเรื่อง หรือกล่าวถึงเรื่องแทรกเข้ามา
๒.๒ เมื่อนั้น ใช้สำหรับผู้มียศสูง หรือผู้เป็นใหญ่ในที่นั้นตามเนื้อเรื่อง เช่นกษัตริย์ ราชวงศ์
๒.๓ บัดนั้น ใช้ขึ้นต้นสำหรับผู้น้อยลงมา เช่น เสนา ไพร่พล
เรื่องย่อ “ สังข์ทอง ”
ท้าวยศวิมลมีมเหสีชื่อนางจันท์เทวีมีสนมเอกชื่อนางจันทา ไม่มีโอรสธิดา จึงบวงสรวงและรักษาศีลห้าเพื่อขอบุตร และประกาศแก่พระมเหสีและทางสนมว่าถ้าใครมีโอรสก็จะมอบเมืองให้ครอง อยู่มานางจันท์เทวีทรงครรภ์ เทวบุตรจุติมา เป็นพระโอรสของนาง แต่ประสูติมาเป็นหอยสังข์ นางจันทาเกิดความริษยา จึงติดสินบนโหรหลวงให้ทำนายว่าหอยสังข์จะทำให้บ้านเมืองเกิดความหายนะท้าวยศวิมลหลงเชื่อนางจันทา จึงเนรเทศนางจันท์เทวีและหอยสังข์ไปจากเมือง
นางจันท์เทวีพาหอยสังข์ไปอาศัยตายายช่าวไร่ ช่วยงานตายายเป็นเวลา ๕ ปี พระโอรส
ในหอยสังข์แอบออกมาช่วยทำงาน เช่น หุงหาอาหาร ไล่ไก่ไม่ให้จิกข้าว เมื่อนางจันท์เทวี
ทราบก็ทุบหอยสังข์เสีย พระสังข์เห็นเช่นนั้นก็ร้องไห้รำพัน และนางจันท์เทวีเลี้ยงพระสังข์มาด้วยความรัก ฝ่ายท้าวยศวิมลเศร้าพระทัย เพราะอาลัยอาวรณ์นางจันท์เทวีมาก
นางจันทาสังเกตเห็นงุ่นง่านใจกลัวจะไม่ได้เป็นใหญ่ จึงให้ยายเฒ่าสุเมธามาทำเสน่ห์ให้ท้าวยศวิมลหลงรักและทูลยุยงว่านางจันท์เทวีมีลูกชายมาอยู่ด้วยคนหนึ่งในป่าน่าจะเป็นลูกชู้ นำความเสื่อมเสียมาแก่ท้าวยศวิมล ให้ประหารพระสังข์เสีย ท้าวศวิมลหลงเชื่อ สั่งประหารพระโอรสของตนแต่ด้วยบุญญาธิทารกของพระสังข์ จะฆ่าอย่างไรพระสังข์ก็ไม่ตาย
เมื่อท้าวยศวิมลทรงทราบว่าพระโอรสมิใช่หอยสังข์แต่เป็นพระกุมารที่มีบุญญาธิการ ท้าวเธอก็จะให้รับพระโอรสและนางจันท์เทวีกลับวัง แต่ถูกนางจันทาทัดทานไว้ และในที่สุดนางจันทาเสนอให้เอาไปถ่วงน้ำจมหายไปต่อหน้าพระมารดา ด้วยบุญของพระสังข์ ถูกหินถ่วงจมลงไปตรงปล่องนาคาอันเป็นประตูสู่เมืองบาดาล พญานาคคือท้าวภุชงค์มาพบเห็นพระสังข์นอนสลบอยู่ จึงนำไปเลี้ยง แต่เห็นว่าจะเลี้ยงกันไม่สะดวกเพราะตนเป็นนาค จึงส่งพระสังข์ไปให้เพื่อนรักคือนางพันธุรัตเลี้ยงดู
นางพันธุรัตเป็นยักษ์ สามีเสียชีวิตแล้ว นางเลี้ยงพระสังข์ด้วยความรักอย่างจริงใจนางพันธุรัตและพี่เลี้ยงแปลงเป็นมนุษย์เลี้ยงพระสังข์มาจนอายุ ๑๕ ปี นางพันธุรัตห้ามขาดไม่ให้พระสังข์เข้าไปที่หวงห้ามแห่งหนึ่ง แต่วันหนึ่งเมื่อนางพันธุรัตไปหากินตามปกติ พระสังก็แอบเข้าไปที่นั่น ไปพบซากโครงกระดูกมนุษย์และสัตว์ใหญ่ เช่น ช้าง เสือ กวาง พบบ่อปิดบ่อหนึ่งเป็น บ่อเงิน อีกบ่อ เป็นบ่อทอง มีรูปเงาะ เกือกแก้วและไม้เท้า เมื่อลองสวมชุดเงาะและเกือกแก้วดูก็ สามารถเหาะไปมาได้ พระสังข์จึงวางแผนหลบหนีนางพันธุรัตเพื่อจะไปหาพระมารดา แล้ววันหนึ่งพระสังข์ก็ลงชุบตัวในบ่อทองแล้วสวมรูปเงาะจะเหาะหนีไป
นางพันธุรัตติดตามไป พระสังข์อธิษฐานไม่ให้นางพันธุรัตขึ้นไปได้ นางอ้อนวอนให้พระสังข์ลงมาหา แต่พระสังข์ไม่ยอมลงมา นางจึงเขียนมนต์เรียก เนื้อเรียกปลาไว้ให้ที่แผ่นศิลาเชิงเขา เรียกว่ามหาจินดามนต์ นางพันธุรัตร้องไห้อ้อนวอนพระสังข์จนทระทั่งอกแตกตายด้วยความอาลัยรักพระสังข์ ซึ่งขณะนั้นพระสังข์ก็สับสน ไม่เชื่อในคำของนาง พระสังข์ลงมาจัดการเรื่องศพพระมารดา โดยสั่งไพร่พลให้จัดการใส่พระเมรุ พระสังข์ก็ท่องมนต์ แล้วเหาะไปจนถึงเมืองท้าวสามนต์
ท้าวสามนต์มีธิดา ๗ นาง อยากจะให้นางทั้งเจ็ดมีคู่ เพื่อท้าวสามนต์จะได้ยกเมืองให้แก่เขยที่สามารถ มีปัญญาดี เป็นกษัตริย์ครองเมืองต่อไป พี่นางทั้งหกของนางรจนาเลือกได้เจ้าชายต่างเมืองเป็นสามี แต่รจนาธิดาองค์สุดท้องไม่เลือกใคร ท้าวสามนต์ให้ป่าวร้องชาวเมืองมาให้เลือกอีกหน รจนาไม่เลือก ในที่สุด ให้นำเจ้าเงาะมาให้เลือก ตั้งใจจะประชดนางรจนาที่ไม่เลือกใคร เลยนำเจ้าเงาะมาให้เลือก พระสังข์ในรูปเงาะเห็นนางรจนาก็พอใจในความงามของนาง จึงอธิษฐานให้นางเห็นรูปทองของพระองค์ซึ่งซ่อนอยู่ในรูปเงาะ รจนาได้เห็นรูปที่แท้จริงของพระสังข์ จึงเสี่ยงพวงมาลัยให้เจ้าเงาะ ท้าวสามนต์เสียใจมากจึงขับไล่นางรจนาให้ไปอยู่กับเจ้าเงาะที่ปลายนา
ท้าวสามนต์รู้สึกอับอายและเสียเกียรติอย่างมากที่รจนาได้เจ้าเงาะเป็นสามี จึงวางแผนคิดฆ่าเจ้าเงาะโดยให้เขยทั้ง ๗ คนไปหาปลามาคนละ ๑๐๐ ตัว ใครได้น้อยจะถูกฆ่า พระสังข์ร่ายมนต์เรียกปลามาชุมนุมกัน หกเขยจึงหาปลาไม่ได้เลย มาพบพระสังข์ก็สำคัญผิดว่าเป็นเทวดาจึงขอปลาพระสังข์จึงให้ปลาคนละ ๒ ตัวโดยขอแลกกับการเชือดปลายจมูก
ท้าวสามนตร์โกรธมากที่อุบายไม่เป็นผล จึงสั่งให้เขยทุกคนไปหาเนื้ออีก และก็เหมือนครั้งก่อน ด้วยเวทมนตร์ของพระสังข์ ฝูงเนื้อทรายทั้งหลายก็ไปชุมนุมอยู่กับพระสังข์ หกเขยได้เนื้อทรายไปคนละตัวโดยแลกกับการถูกเชือดใบหู
พระอินทร์รู้สึกว่าอาสน์ที่ประทับของพระองค์แข็งกระด้าง จึงส่องทิพยเนตรดูก็เห็นว่านางรจนามีความทุกข์เพราะเจ้าเงาะไม่ยอมถอดรูป ทำให้ต้องตกระกำลำบากและถูกท้าวสามนต์หาเหตุแกล้งอยู่เนืองๆ พระองค์จึงแปลงองค์ลงมาท้าตีคลีพนันเอาเมืองทับท้าวสามนต์ ท้าวสามนต์ให้หกเขย ไปตีคลีก็พ่ายแพ้ จึงจำใจไปอ้อนวอนเจ้าเงาะ เจ้าเงาะถอดรูปเป็นพระสังข์งดงามถูกใจท้าวสามนต์ ยิ่งได้ทราบว่าเป็นโอรสกษัตริย์ด้วยก็ยิ่งพอใจ พระสังข์ไปตีคลีได้ชัยชนะเพราะพระอินทร์แสร้งหย่อนอ่อนมือให้
พระอินทร์ไปเข้าฝันท้าวยศวิมลพระบิดาของพระสังข์เพื่อสั่งสอนให้รู้ดีรู้ชั่วและสั่งให้ไปรับนางจันท์เทวีเพื่อไปตามพระสังข์ ท้าวยศวิมลรับนางจันท์เทวีเดินทางไปตามพระสังข์ที่เมืองท้าวสามนต์ นางจันท์เทวีเข้าไปช่วยทำอาหารในฝ่ายที่ต้องทำอาหารถวายพระสังข์ นางนำชิ้นฟักมาแกะสลัก เป็นเรื่องราวชีวิตตั้งแต่หนหลังแล้วนำมาแกง พระสังข์เสวยแกงเห็นชิ้นฟักก็สงสัยจึงนำมาเรียงกันแล้วก็รู้เรื่องทั้งหมด ในที่สุดพ่อแม่ลูกก็ได้พบกันด้วยดี ท้าวยศวิมลขอโทษในความหลงผิดของตน และชวนกันกลับบ้านเมือง พระสังข์พารจนาไปด้วย บทละครนอกสังข์ทองฉบับพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจบเรื่องแต่เพียงนี้
บทวิเคราะห์จากวรรณกรรม
๑. วิถีชีวิต
๑.๑ แบบชาววัง
• แต่ละเมืองมีกษัตริ์เป็นผู้ปกครอง แวดล้อมด้วยข้าทาสบริพาร เสนาบดี ทหาร โหร และต้องมีพระโอรสสืบราชสมบัติ
• กษัตริย์มีภรรยาได้หลายคน แต่เป็นมเหสีได้องค์เดียว
• การแต่งกายของสาวชาววัง ( พระธิดา ) ในงานพิธีมงคล เริ่มจากอาบน้ำขัดผิวด้วยขมิ้นใส่ส้มขาม ทาแป้งสารภี ใส่น้ำมันเกล้ามวยผม นุ่งผ้ายก ห่มสไบ มีผ้าคาดเอว ประดับคอด้วยเพชรพลอย เช่น
“ แต่งตัวตั้งใจจะให้งาม ขมิ้นใส่ส้มมะขามขัดสี
เสร็จพิธีชำระอินทรีย์ ทาแป้งสารภีรื่นรวย
กระจกตั้งคันฉ่องส่องเงา ผิวพรรณผมเผ้างามฉลวย
ใส่น้ำมันกันกวดกระหมวดมวย ผัดหน้าด้วยแป้งญวนเป็นนวลแตง
นุ่งผ้ายกอย่างต่างกัน ช่อช้นเชิงชายลายก้านแย่ง
สไบหน้าเจียระบาดตาดทองแดง เข็มขัดสายลายแทงประจำยาม
สร้อยนวมสวมสอดสังวาลวรรณ ตาบกุดั่นเรืองรองทองอร่าม
กำไลสวมเก้าคู่ดูงาม ใส่แหวนเพชรแวววามครามสอดชับ
ทรงกรอบพักตร์พรรณรายพรายแพรว กรรเจียกแก้วมณีสีสลับ
ใส่ตุ้มหูห้อยพลอยระยับ ครั้นเสร็จสรรพขึ้นเฝ้าท้าวไท ”
( ตอนท้าวสามนต์ให้ธิดาทั้งเจ็ดเลือกคู่ )
๑.๒ แบบชาวบ้าน
• ชาวบ้านปลูกกระท่อมอาศัยในป่า ดำรงชีพด้วยการทำไร่ ทำนา ปลูกพืชผัก เลื้ยงสัตว์ และค้าขาย
• เด็กชาวบ้านเล่นปั้นวัวปั้นควาย เป็นของเล่น
• การละเล่นของเด็กชาวบ้าน เช่น จ้องเต
“ พวกเด็กเด็กหยอกเย้าเข้ายุด อุตลุดล้อมหลังล้อมหน้า
แล้วชวนเล่นจ้องเตเฮฮา โห่ร้องฉาวฉ่านี่นั่น ”

๒. ความเชื่อ
๒.๑ ความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ เชื่อเกี่ยวกับความฝัน คำทำนาย โชคลาง
โดยเฉพาะในสังคมชาววัง ตัวอย่างเช่น ตอน ..กำเนิดพระสังข์
“ ฝันว่าอาทิตย์ฤทธิรงค์ ตกลงตรงพัตร์ข้างทักษิณ
ดาวน้อยพลอยค้างอยู่กลางดิน เราผินพักตร์ฉวยเอาด้วยพลัน
มือซ้ายได้ดวงดารา มือขวาคว้าได้สุริยฉัน
แล้วหายไปแต่พระสุริยัน ต่อโศกศัลย์ร่ำไรจึงได้คืน ”
๒.๒ ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ เช่น ตอนที่นางจัทาทำเสน่ห์ยาแฝดแก่ท้าวยศวิมล
๒.๓ ความเชื่อเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ มีหลายฉากที่แสดงถึงความเป็นแฟนตาซี เหาะเหินเดินอากาศ ร่ายเวทมนต์จับฝูงปลา ตัวอย่างเช่น
“ ครั้นถึงจึงลงหยุดนั่ง ที่ร่มไทรใบบังสุริย์ฉาน
ถอดเงาะซ่อนเสียมิทันนาน แล้วโอมอ่านมหาจินดามนต์
เดชะเวทวิเศษของมารดา ฝูงปลามาสิ้นทุกแห่งหน
เป็นหมู่หมู่มากมายในสายชล บ้างว่ายวนพ่นน้ำคล่ำไป ”
๒.๔ ความเชื่อเรื่องเวรกรรม ที่ครอบครัวพระสังข์ต้องพลัดพรากเพราะกรรมเก่าที่ทำมา ต้องหมดกรรมจึงจะได้อยู่พร้อมหน้าอย่างมีความสุข
“ ....................... เจ้าแก้วตาของพี่ผู้มีกรรม
เจ้าเคยพรากสัตว์ให้พลัดคู่ เวรมาชูชุบอุปถัมภ์
แม้นมีกรรมไม่ไปใช้กรรม ไพร่ฟ้ามันจะทำย่ำยี
มิใช่พี่ไม่รักน้อง ร่วมห้องอกสั่นกรรแสงศรี
ไม่ยับดับสูญบุญมี เคราะห์ดีสิ้นกรรมจะเห็นกัน ”
๒.๕ ความเชื่อเรื่องเทพยดา ว่าเป็นตัวแทนของความดี และสามารถช่วยคนดีให้พ้นภัยได้

๓. ประเพณี
๓.๑ การสืบราชสมบัติ กษัตริย์ต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น
๓.๒ การหาคู่ ต้องหาคู่ครองที่ทัดเทียมกัน เช่น เจ้าหญิงต้องคู่กับเจ้าชาย
๓.๓ การเฉลิมฉลองรับขวัญลูก เช่น ฉากที่นางพันธุรัตรับขวัญพระสังข์เป็นบุตรบุญธรรม เป็นงานบายศรี และมีการแสดงต่าง ๆ อันประกอบด้วย งิ้ว โขน หนัง ลิเก ลำตัด ระบำ มวยปล้ำ เสภา ละครชาตรี มโหรี มอญรำ เช่น ตอน..นางพันธุรัตเลี้ยงพระสังข์
“ ฝ่ายเจ้าพนักงานการเล่น ทั้งมวยปล้ำรำเต้นถ้วนถี่
โขนละครไก่ป่าชาตรี เป่าปี่ตีกลองกึกก้องไป
หกคะเมนไล่ลวดกวดขัน เจ็ดคืนเจ็ดวันหวั่นไหว
ครั้นราตรีมีดอกไม้ไฟ หนังจีนหนังไทยดอกไม้กล
อีกทั้งครึ่งท่อนมอญรำ จับระบำทำท่าโกลาหล
งิ้วง้าวฉาวแฉ่งแต่งตน เกลื่อนกล่นอื้ออึงคะนึงไป ”

๔. ค่านิยม
๔.๑ ความรักของพ่อแม่ มีปรากฏอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ทั้งความรักของนางจันเทวีกับพระสังข์, นางพันธุรัตกับพระสังข์, ท้าวสามนต์กับธิดา
๔.๒ ความกตัญญู สอนให้รู้จักสำนึกบุญคุณของผู้เลี้ยงดูมา มีปรากฏอยู่หลายตอน ทั้งพระสังข์สำนึกบุญคุณแม่จันท์เทวี หรือแม่แต่แม่บุญธรรมอย่างนางพันธุรัต ตัวอย่างเช่น
“ โอ้ว่ามารดาของลูกเอ๋ย พระคุณเคยปกเกล้าเกศี
รักลูกผูกพันแสนทวี เลี้ยงมาไม่มีให้เคืองใจ
จะหาไหนได้เหมือนพระแม่เจ้า ดังมารดาเกิดเกล้าก็ว่าได้
สู้ติดตามมาด้วยอาลัย จนจำตายอยู่ในพนาวัน ”
( ตอน..นางพันธุรัตเลี้ยงพระสังข์ )

๕. ภูมิปัญญา
๕.๑ ภูมิปัญญาด้านสุภาษิตสอนใจ ได้ปรากฏสุภาษิตสอนใจไว้หลายเรื่องจากการได้อ่านบทพระราชนิพนธ์ ดังตัวอย่างเช่น
“ จะจัดแจงแต่งตามอารมณ์เรา เหมือนข่มเขาโคขืนให้กินหญ้า
กลัวเกลือกทั้งเจ็ดธิดา มันจะไม่เสน่หาก็มิรู้
ลางเนื้อชอบลางยาไม่ว่าได้ ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่
คำบุราณท่านว่าไว้เป็นครู พิเคราะห์ดูให้ต้องทำนองใน ”
( ตอน ..ท้าวสามนต์ให้ธิดาทั้งเจ็ดเลือกคู่ )
- ข่มเขาโคขืนให้กินหญ้า หมายถึง บังคับให้ต้องทำตามหน้าที่ สั่ง ขืนใจให้ทำ
- ลางเนื้อชอบลางยา หมายถึง ต่างคนต่างชอบ ต่างจิตต่างใจ ชอบในสิ่งที่ไม่เหมือนกัน
- เงาะถอดรูป เป็นสุภาษิตที่ได้แนวคิดจากเรื่อง “ สังข์ทอง ” หมายถึง การแปลงภาพลักษณ์ใหม่แล้วดูดีขึ้นกว่าเดิมมาก
- อย่าตัดสินคนจากรูปลักษณ์ภายนอก

จากการใช้สัญลักษณ์เป็นเจ้าเงาะอัปลักษณ์ ซึ่งผู้คนที่พบเห็นส่วนใหญ่รังเกียจ ดูถูก และเห็นเป็นตัวตลก เพียงแค่เห็นรูปลักษณ์ภายนอก
- คนดีตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ ไหม้ เช่น ตอนที่เสนาพยายามฆ่าพระสังข์อย่างไรก็ไม่ตาย
๕.๒ ภูมิปัญญาด้านศิลปะการฟ้อนรำ “ รจนาเสี่ยงพวงมาลัย ” เป็นเรื่องราวที่นำมาใช้ประกอบการฟ้อนรำ ที่ได้รับความนิยมแพร่หลาย
๕.๓ ภูมิปัญญาด้านกีฬา ได้แก่ กีฬาตีคลี ที่มีมาเนิ่นนานในประเทศไทย ตอนที่พระอินทร์ท้าพระสังข์ตีคลี ทำให้ต้องถอดรูปเงาะ
บทสรุป
บทพระราชนิพนธ์ “สังข์ทอง” ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นบทละครนอกที่นำเสนอเรื่องราวชีวิตของคนในสังคมยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยผสมผสานความบันเทิง.ให้น่าติดตาม เช่น อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ความอิจฉาริษยา กิเลสมนุษย์ ไสยศาสตร์ และอารณ์ต่าง ๆ ทั้งโศกเศร้าเคล้าน้ำตา ตลกชวนหัว และฉากรักโรแมนติก อีกทั้งได้สอดแทรกคติสอนใจหลายแง่มุม สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตทั้งชาววังและชาวบ้าน ให้เห็นถึงขนบธรรมเนียมประเพณี ค่านิยม ความเชื่อ และภูมิปัญญา ของยุคสมัยนั้นตามความเป็นจริง อันก่อให้เกิดประโยชน์ด้านการศึกษาวัฒนธรรมแก่ชนรุ่นหลัง ทั้งยังเต็มเปี่ยมด้วยคุณค่าในงานวรรณกรรม ถ่ายทอดเป็นบทกลอนอันไพเราะ ซาบซึ้งกินใจ และทำให้ผู้อ่านได้รับสุภาษิตสอนใจอันเป็นแง่คิดที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยไหน นับเป็นงานวรรณกรรมอันทรงคุณค่าอย่างยิ่ง ด้วยพระปรีชาสามารถของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๒ ที่เยาวชนรุ่นหลังควรศึกษาสืบทอดกันต่อไป

3 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...
ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ
Unknown กล่าวว่า...

ขอสอบถามหน่อยนะคะ บทความนี้ผู้เขียนบล็อกเป็นผู้เขียนขึ้นเองใช่ไหมคะ คือเราต้องใช้นำเสนองานน่ะค่ะ

Unknown กล่าวว่า...

ค่ะ